ฉากหลังของ Hunt อยู่ในยุค 80 ภายหลังที่ผู้นำเผด็จการ พัคจองฮี ถูกลอบสังหารโดยหัวหน้าหน่วยข่าวกรองกลางแห่งชาติ (KCIA) เมื่อปี 1979 จากนั้นนายพลชอนดูฮวานจึงรัฐประหารเข้ามาสืบทอดอำนาจต่อ นำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งสำคัญที่กวางจูในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ซึ่งเขาได้สั่งสลายการชุมนุมจนมีประชาชนเสียชีวิตเกิน 1,000 คน
หนังหยิบประวัติศาสตร์จริงมาเล่าเรื่องราวของตัวละคร พัคพยองโฮ (อีจองแจ) หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับระหว่างประเทศ กับ คิมจองโด (จองอูซอง) หัวหน้าหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ชายสองคนที่ได้รับมอบหมายให้ตามล่า ‘ดงลิม’ (독립 – เอกราช/อิสรภาพ) โค้ดเนมของสายลับเกาหลีเหนือผู้ปล่อยข้อมูลลับสุดยอดที่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้นำ ทั้งสองฝ่ายจึงออกตามล่าหนอนบ่อนไส้ในองค์กรจนเริ่มหันมาห้ำหั่นกันเอง
ถือว่าฉากแอ็กชันทำได้ดุเดือดสมกับที่หนังได้รับคำชมอย่างล้นหลาม หนังไม่ปล่อยให้มีจังหวะเงียบนานก็ซัดทั้งฉากปะทะคารมและฉากต่อสู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องบอกว่าโลเคชันยุค 80 ของโซล วอชิงตัน โตเกียว รวมถึงประเทศไทย ที่เห็นกันนั้นถูกเซ็ตขึ้นมาในเกาหลีทั้งหมด
สำหรับอีกหนึ่งอีเวนต์สำคัญที่ Hunt ใช้ประเทศไทยเป็นฉากหลังนั้นอิงมาจากเหตุการณ์จริงที่มีสายลับเกาหลีเหนือพยายามลอบสังหารชอนดูฮวานในปี 1983 ณ เมืองย่างกุ้ง เมียนมา แต่หนังเปลี่ยนมาเป็นประเทศไทยกับบรรยากาศล้อมรอบด้วยภูเขาแบบ Exotic หน่อยๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้นตรงกับยุคของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
ขณะเดียวกันก็เป็นจุดอ่อนคือ แม้เราจะเชื่อในฝีมือของนักแสดงนำอย่างไร้ข้อกังขา (และเข้าใจอารมณ์แค้นต่อเผด็จการได้ไม่ยากแน่ๆ) แต่เมื่อเข้าสู่องก์สามซึ่งควรจะคลี่คลายประเด็นสายลับ กลับมีความรู้สึกเสียดายที่หนังเดินเรื่องเร็วจนไม่เห็นมิติของตัวละครเท่าที่ควร โดยเฉพาะกับคนที่ไม่สันทัดกับประวัติศาสตร์เกาหลีเหนือ-ใต้ กว่าจะปะติดปะต่อตามได้ก็มีฉากแอ็กชันตื่นเต้นมาดึงความสนใจไปก่อนแล้ว